วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปรมาจารย์แคน!!! สุดยอดหมอแคน อ.สมบัติ สิมหล้า


ปรมาจารย์แคน!!! สุดยอดหมอแคน อ.สมบัติ สิมหล้า


ชมคลิป
 


สมบัติ สิมหล้า : เดี่ยวมือหนึ่งแคนอีสาน
   สมบัติ สิมหล้า ลูกชาวนาอีสานเกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 บุตรของนายโป่ง นางบุดดี สิมหล้า ที่บ้านวังไฮ ตำบลวังใหม่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เขาเป็นผู้ที่อยู่ในโลกมืดมาตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากหมอตำแยที่ทำคลอดเมื่อแรกเกิดหยอดยาผิดจนทำให้ตาติดเชื้อและบอดสนิท
แต่ในโลกแห่งความมืดยังมีแสงสว่างในหัวใจส่องสู่โลกแห่งความสนุกสนานและมนต์เสน่ห์ของดนตรีพื้นบ้านอีสาน เนื่องด้วยทั้งผู้เป็นพ่อเป็นหมอแคนและแม่เป็นหมอลำกลอนแห่งหมู่บ้านจึงได้ถ่ายทอดวิชา เป่าแคน” ให้กับสมบัติ สิมหล้า เป็นเครื่องดนตรีคู่กายและฝึกฝนจนมีความชำนาญเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่โลกปัจจุบัน
เสียงแคนคือสื่อมนต์ขลังให้หลายคนคิดถึงบ้าน แต่สำหรับสมบัติ สิมหล้า คือสื่อที่ทำให้เขาได้ตระเวนไปทั่วอีสาน ต่างสถานที่ต่างเวลา ต่างท้องถิ่น และถูกพาไปไกลเรื่อย ๆ โดยขออาศัยนอนตามโรงพัก นอนตามท่ารถ เพื่อให้ได้มาซึ่งเศษสตางค์สำหรับผู้ที่ใจบุญต่อผู้ที่อยู่ในโลกมืดอย่างเขา จนเมื่ออายุได้ 11 ปี  จึงมีโอกาสขึ้นเวทีเป่าแคนให้หมอลำบัวผัน ดาวคะนองหมอลำคำพัน ฝนแสนห่าหมอลำวิรัติ ม้าย่อง โดยได้รับค่าตอบแทนคืนละ  500 บาท  นับว่ามีค่ามหาศาลแตกต่างจากที่เขาต้องตระเวณเป่าแคนในต่างถิ่น
 เมื่อมีความชำนาญด้านการเป่าแคนลายต่าง ๆ สมบัติ สิมหล้า ได้มีโอกาสเข้าประกวดการเป่าแคนที่กองบินทหารอากาศมหาสารคามได้ลำดับที่ 1  และประกวดระดับภาคที่จังหวัดขอนแก่นได้รับรางวัลชนะเลิศ  จึงเป็นเส้นทางให้เขาได้มีโอกาสร่วมบันทึกเสียงแคนให้กับหมอลำชื่อดังหลายคนที่ห้องอัดเสียงสยามจังหวัดขอนแก่น





ชื่อเสียงของสมบัติ สิมหล้า เป็นที่รู้จักของผู้ชมทั่วประเทศและเป็นคนดังทั่วประเทศเมื่อได้รับเชิญจากทีมงานรายการทไวไลท์ไชว์ของไตรภพ ลิมปพัทธิ์  และการแสดงในครั้งนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่การแสดงร่วมนักดนตรีระดับแนวหน้าของเมืองไทย เช่น สุรชัย จันทิมาธร, วง ฟองน้ำ  ของครูบุญยงค์ เกตุคง และอาจารย์บรูส แกสตัน, วงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออร์เคสตาร์ หรือ TPO วงออร์เคสตรา ของคณาจารย์ และนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำนวยการวงโดย ดร.สุกรี เจริญสุข รวมทั้งการได้รับเชิญไปแสดงในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา  
ความภาคภูมิใจในชีวิตของสมบัติ สิมหล้า มือแคนจากแดนอีสานนั่นคือการได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษการเป่าแคนให้กับนักศึกษาที่สนใจศิลปะดนตรีพื้นบ้านอีสาน จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันการศึกษาในภาคอีสานหลายแห่ง  
กับวิถีชีวิตของสมบัติ สิมหล้าในวันนี้เขามีความสุขกับครอบครัวโดยได้พบรักกับหลานสาวของหมอลำผีฟ้าแห่งบ้านไชโย อำเภอบรบือ มีความสุขตามอัตภาพโดยมีลูกสาวอีกคนเป็นโซ่ทองคล้องใจ และเขาที่มุ่งมั่นให้เป็นหมอแคนหญิงในอนาคตให้ได้ โดยพักอยู่ที่ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ บ้านวังไฮ ตำบลวังใหม่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม รับงานแสดงทั่วไปและเป็นอาจารย์พิเศษในสถานการศึกษาเป็นบางช่วง
สำหรับแคนคู่ใจของสมบัติ สิมหล้า ได้มีความหมายและความสำคัญต่อวิถีชิวิตทั้งในอดีตและปัจจุบันว่า
แคนเป็นเครื่องดนตรีที่ดึงดูดคนอีสานไว้ด้วยกัน ผูกมัดหัวใจเขาไว้ด้วยกัน เครื่องดนตรีชนิดใดก็ขาดได้ แต่ถ้าขาดแคนไปเสียแล้วทำอะไรไม่ได้เลย หมอลำลำไม่ได้ถ้าไม่มีแคน ไปไหนก็แล้วแต่ คิดถึงบ้านก็ต้องเป่าแคน ฟังแคน
 “มันสำคัญขนาดคนอีสานสมัยก่อน ถ้าไม่มีแคนนี่แทบหาเมียไม่ได้ เพราะเขาต้องสะพานแคนออกไปจีบสาว ออกพรรษาแล้วเวลาเขานวดข้าวหรือเข็นฝ้าย อากาศหนาว ๆ พวกหนุ่ม ๆ ก็สะพานแคนเดินไป พอเจอบ้านไหนก็หยุดเป่า เอาเม็ดมะขามมาคั่วกิน ผิงไฟไป คุยกับผู้สาวไป
หากไม่มีแคนในวันนี้วิถีชีวิตของสมบัติ สิมหล้า คงไม่ได้เปิดโลกทัศน์ดนตรีพื้นบ้านอีสานเป็นสะพานเชื่อมสู่โลกยุคเทคโนโลยีกับดนตรีสมัยใหม่ ดังคำกล่าวของเขาที่กล่าวไว้ว่า
"อย่าไปน้อยใจ ท้อแท้ใจ คนเราถ้ายังไม่หมดลมหายใจ ก็อย่าไปท้อ ผมเกิดมายังไม่ทันได้เห็นอะไร ตาก็บอดเสียแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยท้อ ยิ่งท้อยิ่งทำให้อายุสั้น"

ข้อมูล/ภาพประกอบการเขียน            
กฤษกร วงค์กรวุฒิ. เสียงแห่งชีวิตของสมบัติ สิมหล้า.  ค คน Magazine : ปีที่ 3 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2551                                                                 http://www.isangate.com/author/artist.htm                    http://www.music.mahidol.ac.th/journal/september2002/kaen.html

http://oknation.nationtv.tv/blog/numsunjon/2008/11/28/entry-1







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น